พาเที่ยว ตลาดน้ำลาดชะโด(1) : เดินตลาดหาของกิน


ลาดชะโดแดนทำหรีด อดีตแหล่งรวมปลา เสาศาลาวัดต้นใหญ่
ภาพยนตร์ไทยมาถ่ายทำ งามล้ำด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

พอดีกลับต่างจังหวัด เห็นว่าอยู่ไม่ไกลจากบ้าน เลยไปเที่ยวและเก็บภาพมาฝากกันค่ะ
ลาดชะโด ได้ยินชื่อนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว แต่จะได้ยินเป็นลาดโด ลาดสะโดเสียมากกว่า ตามการเรียกกันติดปากของชาวบ้าน

ตลาดน้ำลาดชะโดเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นตลาดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ริมคลองลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เชื่อกันว่าชุมชนลาดชะโดแห่งนี้ ตั้งขึ้นหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวบ้านเป็นชาวกรุงเก่าที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ตลาดพัฒนามาจากเรือนแพค้าขายของชาวจีน ที่ตั้งอยู่สองฝั่งคลองในรูปแบบตลาดน้ำ ต่อมาได้สร้างเป็นตลาดไม้ริมฝั่งคลองสำหรับทำการค้าขาย แล้วขยายเข้าไปสู่ฝั่งเรื่อยๆ จนเกิด
เป็นแหล่งชุมชน

ตลาดอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอผักไห่ จากตลาดผักไห่ออกไปประมาณ 500 เมตรก็จะมีทางแยกไปลาดชะโด สังเกตด้านซ้ายจะมีหมู่บ้านอยุธยาคันทรีโฮมและร้าน Coffe Today ก่อนถึงสะพานข้ามคลอง ข้ามคลองไปมีร้านเปรี้ยวปาก และเจอทางเลี้ยวซ้ายไปลาดชะโด จากปากทางเข้าไปอีกประมาณ 4-5 กิโลเมตร

 ร้อนมากๆ ขอเติมพลัง ทานโกโก้เย็นๆ ที่ร้าน Coffe Today ก่อน

ร้าน Coffee Today เป็นร้านกาแฟ บรรยากาศดี ร่มรื่นนั่งสบายๆ หากต้องการนั่งเรือชมบรรยากาศในคลองลาดชะโดจากจุดนี้ สามารถติดต่อได้ที่นี่ ราคาเหมาะลำประมาณ 300 บาทแต่ถ้าไม่นั่งเรือจากตรงนี้ ขับรถเข้าไปใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ที่ตลาดจะมีเรือพาชมคลองลาดชะโด ราคาคนละ 10 บาท

ถนนทางเข้าลาดชะโดเป็นถนนลาดยาง ทางดี สองข้างทางก็จะพบกับภาพทุ่งนาเขียวๆ ได้บรรยากาศต่างจังหวัด

ด้านซ้ายมือจะขนานไปกับคลอง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกบ้านบริเวณริมคลอง หันหน้าเข้าหาคลอง เพราะในสมัยก่อนการจราจรทางบกยังไม่ดีเหมือนกับสมัยนี้ ชาวบ้านใช้เรือเป็นพาหนะหลัก

จากปากทางมาไม่ถึงสิบนาที ก็จะเริ่มเข้าสู่หมู่บ้าน ด้านขวามือจะเป็นที่ตั้งของเทศบาลลาดชะโด เห็นสัญลักษณ์ปลาชะโดตัวใหญ่ ซึ่งเป็นปลาที่เมื่อก่อนมีชุกชุมมากที่ลาดชะโด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านลาดชะโด

จากนั้นจะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้าย ไม่ต้องกลัวหลงเพราะมีป้ายบอกตลอด

ถึงแล้วตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

เข้ามาก็จะพบกับพิพิธภัณฑ์ประมงพื้นบ้านลาดชะโด ภายในก็จะจัดแสดงความเป็นมาและวิถีชาวบ้านของชาวลาดชะโด อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ก็เคยมาร่วมงานบวชนาคของผู้ที่เคยทำงานในบ้านท่าน และล่องเรือมาเที่ยวส่วนตัวอีกครั้งที่นี่

มีเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่นชุดจับหมู เครื่องดักปลา ฯลฯ

อีกด้านก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนาลาดชะโด ก็จะมีเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนา

ภาพเก่าเล่าอดีตของชาวลาดชะโด ซึ่งนับว่าเป็นชุมชนเก่าแก่มากว่า 100 ปี

มีการจัดแสดงปลาในท้องถิ่นซึ่งที่นี่เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมาก เช่นปลาแสลด ที่สำคัญเลยคือปลาชะโด มีคำกล่าวว่า เวลาพายเรือให้ค่อยๆ พายไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะพายไปถูกปลาชะโดเข้า แสดงให้เห็นว่ามีปลาชะโดชุกชุมมาก

มาลาดชะโดทั้งที ไม่เห็นปลาชะโดไม่ได้แล้ว
ลาดชะโด ก็น่าจะมาจาก ลาด=พื้นที่เป็นที่ลาด และก็มีปลาชุกชุมโดยเฉพาะปลาชะโด จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ รูปร่างหน้าตาคล้ายปลาช่อน แต่มีขนาดใหญ่กว่า หน้าตามันดุดีแฮะ

แจกันกับโถต่างๆ

เรือแกะสลัก 
น่าจะมาจากการที่ตลาดพัฒนามาจากตลาดน้ำ ชุมชนเดิมในตลาดมาจากชุมชนเรือนแพค้าขาย

มาเดินชมตลาดกันบ้าง ที่นี่เป็นตลาดจริงๆ ที่เพิ่งทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดังนั้นของที่ขาย พวกของกินก็จะไม่ได้มีเยอะมากมายอย่างตลาดน้ำอื่นๆ เช่น ตลาดดอนหวาย ขนมของกินก็มีขายบ้างพอสมควร แต่ไม่มากนัก คงเป็นเพราะตลาดเพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ส่วนใหญ่ที่มีขายก็จะเป็นพวกขนมหวาน แม่บอกว่าคนลาดชะโดก็ทำขนมหวานอร่อยเหมือนกัน

มีคนมาจับจ่ายและเดินเที่ยวกันพอสมควร ซื้อของชาวบ้าน 1 ชิ้นก็ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

นอกจากนี้ก็ยังมีการจักสานตะกร้าหวาย ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพสหกรณ์จักสาน ท่าดินแดง ของอำเภอผักไห่ ซึ่งน้าเล็ก(คนที่นั่งสานอยู่) สานได้อย่างชำนาญมาก รอบแรกเดินผ่านไปเพิ่งสาน เดินกลับมาเริ่มสานใบใหม่แล้ว ชำนาญจริงๆ

มาดูของกินกันบ้าง กล้วยปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้งอันละ 5 บาท

ขนมถังแตก ปกติจะเคยทานตามงานวัด เด็กต่างจังหวัดคงคุ้นเคยกันดี ขายอันละ 5 บาท 4 อัน 20 เขียนเหมือนว่าซื้อ 4 อันแล้วได้ลด คงเป็นกลยุทธ์การขายเป็นแน่แท้

เม็ดขนุน ทองหยอด ฝอยทอง ทำกันสดๆ เลย ชิมแล้วอร่อยดี ราคาไม่แพง ทองหยอดกล่องละ 20 ฝอยทองกล่องละ 25 บาท ราคาเป็นราคาแบบที่ขายตามต่างจังหวัดจริงๆ

ข้าวเกรียบปากหม้อ

ทอดมัน
ซื้อของร้านมีมีการแถมบัตรส่วนลด 10% ร้านเปรี้ยวปากที่อยู่ปากทางด้วย

ภาพนี้เบลอซะ
ขนมไข่ปลา เป็นขนมที่ทำจากลูกตาลกับแป้ง ทำกันสดๆ เหมือนกัน ขนมนี้ชอบมากไม่ค่อยมีที่ไหนขายแล้ว

หอยทอด คนแถวบ้านเรียกแชล้วน ไม่รู้ทำไมถึงเรียกแบบนั้น

ก๋วยเตี๋ยวเรือขึ้นบก ร้านก๋วยเตี๋ยวจะมีหลายร้านเหมือนกัน

ผลไม้ ของชาวบ้านมาขายเอง จากต้นสดๆ

ห่อหมกในหม้อดิน เป็นห่อหมกโบราณ

มีห้องฉายภาพยนตร์ด้วย

ทีแรกก็ไปยืนดูอยู่ว่าทำไมฉายแต่หนังไทย แล้วทำไมเลือกหนังเรื่องนี้มาฉาย ไปดูที่ป้ายก็ถึงบางอ้อ ภาพยนตร์ที่เอามาฉาย เป็นภาพยนตร์ที่เคยมาถ่ายทำที่นี่ เช่น บุญชู รักข้ามคลอง สตางค์ ชื่อชอบชวนหาเรื่อง ดงดอกเหมย ความสุขของกะทิ เป็นต้น

วันนั้นฉายเรื่อง ชื่อชอบชวนหาเรื่อง วันไหนฉายเรื่องอะไรก็จะมีโปรแกรมติดไว้หน้าโรงฉาย

เดินต่อไปเรื่อยๆ สังเกตร้านด้านซ้ายมือ มีใครเคยปั่นโหลที่มีไข่ข้างในแบบนี้บ้าง

ก่อนจะถึงท่าน้ำก็จะมีขายอาหารปลาถุงละ 10 บาท ซึ่งเวลาล่องเรือขากลับจะไปจอดที่หน้าโรงเรียนให้เลี้ยงปลา แต่ตอนไปไม่ได้สังเกตเลยไม่ได้ซื้อลงไปในเรือด้วย เพิ่งเห็นตอนขึ้นมาแล้ว ถ้าเอาไปขายในเรือด้วยจะดีมาก

ป้ายบริเวณท่าน้ำ

มีก๋วยเตี๋ยวเรือจริงๆ ขายด้วย แต่ไม่ได้ลองชิม ที่นั่งมีทั้งด้านล่างกับที่นั่งด้านบน คนขายต้องปวดคอแน่ๆ เงยขึ้นลงตลอด เพราะมีลูกค้าสั่งมานั่งทานด้านบนด้วย

บริเวณเรือนแถวริมน้ำ บริเวณนี้มีบริการนวดคลายเส้นด้วย

จุดชมวิว
วันนั้นอากาศร้อนมากๆ มานั่งริมน้ำลมพัดเย็นสบาย

หน้าตลาดมียอตั้งอยู่ ซึ่งที่นี่มียอมากมายแทบจะทุกบ้านเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นการจับปลาอีกรูปแบบหนึ่ง

เดินไปอีกหน่อย ก็เจอก๋วยเตี๋ยวร้านนี้เข้า เลยแวะทานสักหน่อย

ชื่อร้านคุณลี ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นกรุงเก่า ชามละ 15 บาท ที่นั่งอยู่ริมน้ำสบายๆ น้ำแข็งไสถ้วยละ 5 บาท

บรรยากาศริมน้ำ

เรือเอี้ยมจุ๊น เป็นเรือแบบคนจีนในสมัยก่อน

ข้างร้านก๋วยเตี๋ยวจะมีท่าเรือ ที่จะพาเราไปล่องเรือดูวิถีชีวิตชาวลาดชะโดสองฝั่งคลอง ตอนนี้เรือยังไม่มา ไปเดินเที่ยวต่อระหว่างรอเรือ

อ้อมมาด้านนี้ก็จะมีตลาดที่คล้ายๆ กันกับอีกด้าน เป็นเรือนไม้แถวหันหน้าเข้าหากัน โครงสร้างเป็นไม้ มีหลังคาคลุมทั้งตลาด ตรงกลางกว้างเดินสบายๆ ที่นี่ได้รับรางวัลพระราชทานอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2549 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น ส่วนใหญ่ตลาดเก่าๆ ตามต่างจังหวัดจะเป็นตลาดลักษณะนี้และตั้งอยู่ริมน้ำ เมื่อก่อนแถวบ้านเราก็เคยมี แต่น่าเสียดายที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

เก่าแก่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ด้านนี้จะไม่ค่อยมีของขาย มีเปิดเป็นบางร้านซึ่งก็น่าจะขายของเป็นปกติอยู่แล้ว

ร้านขายของชำ

ช้อนโบราณ สมัยยังเด็กยังทันใช้ช้อนแบบนี้ อิอิ
เป็นช้อนสังกะสีเคลือบสี ใช้ไปนานๆ แล้วมันจะบาดปาก เอาไว้แคะมะพร้าวอ่อน เวิร์คสุดๆ

ร้านตัดผม ที่นั่งยังเป็นแบบเดิมๆ อยู่เลย คลาสสิกมากๆ

ร้านขายยาโบราณ เป็นสถานที่ขายยาประเภท ค เพิ่งรู้ว่ามันมีแบ่งเป็นประเภทด้วย ด้วยความสงสัยเลยไปถาม Google ได้ความว่า ร้านขายยาประเภท ค. เป็นร้านขายยาสำเร็จรูปที่ไม่มียาอันตรายผสมอยู่ ร้านนี้ถ้าเจ้าของร้านเป็นเภสัชกรแผนโบราณ  ก็ผลิตยาแผนโบราณขายได้  ถ้าเจ้าของร้านเคยเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในร้านขายยา มาไม่น้อยกว่า ๓ ปี สามารถรับยาสำเร็จรูปมาขายได้เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

มีคุณป้า 2 คนเป็นคนเฝ้าร้าน ใจดีมากๆ บอกว่าเจ้าของจริงๆ ตายไปแล้ว ส่วนลูกๆ ก็ไม่ได้มารับช่วงกิจการ ยาที่เห็นก็ใช้ไม่ได้แล้ว แต่ก็เอามาแสดงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ยาจะเก็บไว้ในกระป๋องและในปี๊บและเขียนชื่อตัวยานั้นไว้ พร้อมสรรพคุณ สามารถเดินเข้าไปชม ไปอ่านเพื่อเอาความรู้ได้

ส่วนด้านหน้าร้านก็มีพวกยาหม่องขายอุดหนุนยาหม่องมา 1 ตลับ ห้อม หอม

ถ้าใครชื่นชอบสถาปัตยกรรมที่เป็นเรือนไม้เก่าๆ คงจะชอบที่นี่

ร้านขายของชำ และร้านค้าต่างๆ ที่เปิดขายในตลาดให้ชาวบ้านมาซื้อกันตามปกติ

มีสะพานทอดยาวไปยังบ้านเรือนของชาวลาดชะโด บ้านเรือนของที่นี่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น จนได้สมญาว่า ไก่บินไม่ตก เพราะว่าตั้งบ้านเรือนติดกัน ขนาดหลังคาชนหลังคาทีเดียว

มีแผนที่บอกโซนของลาดชะโดด้วย ตอนนี้เรากำลังอยู่ในโซน A

ตู้ไปรษณีย์ ถ้ามีโปสการ์ดรูปตลาดลาดชะโด กับวิถีชีวิตริมคลองของชาวลาดชะโดขายตรงนี้จะดีไม่น้อย

พอเดินทะลุมาจากท่าน้ำก็จะเจอร้านค้าร้านนึง มีตู้โชว์ของสะสมด้วย ก็เลยเข้าไปถ่ายรูป เจ้าของร้านใจดีมากๆ ยังชวนนักท่องเที่ยวให้เข้าไปชมด้านในได้

ด้านข้าง เป็นศาลเจ้าลาดชะโด ตอนล่องเรือเห็นศาลเจ้าริมน้ำ น่าจะเป็นศาลเจ้าเก่า

บริเวณด้านในศาลเจ้า ด้านหน้าเขียนไว้ว่า ตระกูลโค้วประเสริฐสุข

ด้านหน้าศาลเจ้าเป็นที่ออกกำลังกาย มีเครื่องออกกำลังกายตั้งอยู่ด้วย

สะพานที่ทอดยาวเข้าไปในหมู่บ้าน เอกลักษณ์ของที่นี่คือการเดินถึงกันได้โดยที่ไม่ต้องลงพื้นดิน เพราะว่าจะมีสะพานปูนเชื่อมถึงกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างบ้าน หรือ้านกับสถานที่ต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเวลาหน้าน้ำ น้ำจะท่วมทุกปี มีสะพานแบบนี้ทำให้สะดวกในการเดินทาง

สะพานอีกรูป น่าเสียดายที่ไม่ได้เดินเข้าไปชมในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็เชิญชวน คนที่นี่อัธยาศัยดีมาก

สถาปัตยกรรมเก่า ที่ยังคงรูปแบบเดิม

ปล่องโรงสี คาดว่าเมื่อก่อนบริเวณนี้คงจะมีโรงสีข้าวตั้งอยู่ เท่าที่เห็นส่วนใหญ่โรงสีมักจะตั้งอยู่ริมน้ำ

จบตอนนี้ไว้แค่นี้นะคะ
ตอนหน้าจะพาไปล่องเรือชมวิถีชีวิตสองข้างของคลองลาดชะโดค่ะ

อ่านต่อตอนที่ 2

4 comments on "พาเที่ยว ตลาดน้ำลาดชะโด(1) : เดินตลาดหาของกิน"

sunchai's picture
sunchai (visitor) said on Thu, 07/08/2010 - 13:22:

ดีมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

taladnambuangbangbhon's picture
taladnambuangbangbhon (visitor) said on Mon, 07/18/2011 - 17:19:

ตลาดน้ำบึงบางบอน

แหล่งช้อปปิ้งริมบึงในบรรยากาศรมรื่น บนเนื่อที่กว่า 72 ไร่ เริ่มเปิดจองร้านค้า แล้ววันนี้

buangbangbhon's picture
buangbangbhon (visitor) said on Sat, 08/06/2011 - 22:20:

www.taladnambuangbangbhon.com
แหล่งช้อปปิ้งริมบึงในบรรยากาศรมรื่น บนเนื่อที่กว่า 72 ไร่ เริ่มเปิดจองร้านค้า แล้ววันนี้.

Esanindy's picture
Esanindy (visitor) said on Tue, 10/09/2012 - 21:42:

ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ขอสนับสนุนด้วยคนครับ

https://esanindy.wordpress.com
อีสานอินดี้ เว็บดีมีสาระ สืบสานวัฒนธรรมอีสาน

Powered by Drupal, an open source content management system

Copyright © 2009 bombik - Theme ported to Drupal by kong
CSS Templates by Inf Design - Valid XHTML & CSS