หนีน้ำท่วมไปแอ่วเชียงใหม่ ตอนที่ 4/5 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และ วัดอุโมงค์

ต่อจากตอนที่แล้ว หนีน้ำท่วมไปแอ่วเชียงใหม่ ตอนที่ 3/5 วัดศรีสุพรรณอุโบสถเงิน

จากวัดศรีสุพรรณเรานั่งรถเหลืองมาลงที่หน้าประตูเชียงใหม่ ทีแรกกะว่าจะเดินไปตามถนนตามถนนพระปกเกล้า แวะไหว้พระตามวัดไปเรื่อยๆ จนถึงอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ แต่พอเดินไปได้หน่อยเริ่มร้อน ก็เลยเปลี่ยนใจโบกรถเหลือง จุดหมายคือหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ แต่เราจะไปนั่งชิล พักเหนื่อย หาของหวานกับเครื่องดื่มเย็นๆ กิน ที่ร้าน Fern Forest ก่อน ^_^

นั่งรถผ่านหน้าอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ ผ่านสี่แยก แล้วมาลงอีกแยกหนึ่ง ใกล้ๆ กับสำนักงานบริษัทการบินไทย เดินเข้าถนนเวียงแก้ว เข้าสิงหราชซอย 4 มานั่งชิลกินเค้กกันก่อน ที่ร้าน Fern Forest ในร้านวันนี้เงียบมาก คงเพราะเป็นกลางวันวันธรรมดา เราสั่งชาเย็นกับบานอฟฟี่

มาร้านนี้เป็นครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ เคยรีวิวร้านนี้ไว้แล้วที่>> พากิน เค้กในบรรยากาศสวนเฟิร์น ร้าน Fern Forest เชียงใหม่

หลังจากนั่งชิลคนเดียวที่ Fern Forest อยู่แป๊บนึง แดดกำลังร้อนได้ที่ ก็ได้เวลาออกเดินทางมาต่อด้วยของคาวมื้อกลางวันที่ร้านป๋องก๋วยจั๊บ ข้างอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ กินของหวานก่อนของคาว >_< เป็นก๋วยจั๊บน้ำใสที่รสเผ็ดพริกไทย คล้ายๆ กับก๋วยจั๊บแถวเยาวราช เครื่องเยอะกว่าแต่ไม่แซ่บเท่า เคยรีวิวร้านนี้ไว้แล้วที่ พากิน ร้านป๋องก๋วยจั๊บ ข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่

จากนั้นก็ข้ามถนนมาที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซื้อบัตรด้านหน้าราคาคนไทย 20 บาท มาเดินหาความรู้และซึมซับกับความเป็นมา ประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ของคนเมืองเชียงใหม่กัน พอซื้อบัตรเสร็จ เข้ามาก็จะเป็นห้องฉายวีดีทัศน์แนะนำเมืองเชียงใหม่

พอดูวีดีทัศน์เสร็จ ก็เดินไปยังห้องต่อไป ที่เป็นเรื่องราวความเป็นมา ก่อนที่จะเป็นเมืองเชียงใหม่ ในหอศิลปวัฒนธรรมจะแบ่งเป็นห้องๆ แต่ละห้องก็จะแสดงถึงเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่จะเป็นเมืองเชียงใหม่

อารยธรรมลุ่มน้ำปิง แม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญทางภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางของความเจริญของภาคเหนือ ซึ่งเมืองที่เป็นศูนย์กลางความเจริญที่เก่าแก่ที่สุดคือ เมืองหริภุญไชย หรือ เมืองลำพูน ซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และ พระพุทธศาสนา

แผนที่เมืองเชียงใหม่ในสมัยก่อน

ถัดมาอีกห้องหนึ่งก็จะเป็นในยุคสร้างบ้านแปงเมือง

ในห้องนี้ก็จะแสดงให้เห็นถึงเมื่อครั้งกำลังสร้างเมืองเชียงใหม่ มีสิ่งก่อสร้างหรือสถานที่สำคัญๆ อะไรบ้าง เช่นในรูปนี้เป็นเจดีย์สะดือเมือง เชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงใหม่ เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมวัดสะดือเมือง มีลักษณะแบบหริภุญไชย(ลำพูน)

บริเวณนี้จะมีความรู้เกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของเจดีย์สะดือเมือง

เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง เราก็จะเห็นเจดีย์สะดือเมืองอยู่ด้านนอก ซึ่งสามารถเปรียบเทียบส่วนต่างๆ กับของจริงได้

กำแพงและประตูเมืองเชียงใหม่

มุมเมืองทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า แจ่ง ซึ่งมีทั้งหมดอยู่ 4 แจ่งคือ
แจ่งศรีภูมิ เดิมเรียกว่า "สะหลีภูมิ(สีรภูม)" หมายถึงศรีของเมือง ในอดีตใกล้แจ่งนี้มีไม้นิโครธ ถือเป็นสิริมงคล สถานที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองเชียงใหม่
แจ่งหัวลิน หัวลินหมายถึง จดเริ่มต้นของการรับน้ำด้วยการผ่านรางน้ำ(ลิน) ในอดีตแจ่งนี้เป็นที่รับน้ำจากห้วยแก้ว เพื่อหล่อเลี้ยงคูเวียงโดยรอบ และนำเข้ามาใช้ในเมืองด้วย จึงเรียกมุมเมืองนี้ว่า แจ่งหัวลิน
แจ่งกู่เรือง เดิมเรียกว่า "กู่เฮือง" หมายถึงบรรจุอัฐิของหมื่นเรือง ซึ่งเป็นผู้คุมขุนเครือ โอรสของพญามังรายไว้ในเรือนขังที่บ้านของหมื่นเรือง
แจ่งกะต๊ำ "กะต๊ำ" คือเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่งในอดีตมุมกำแพงด้านนี้เป็นที่ลุ่ม มีคลองส่งน้ำจากแจ่งหัวลินมาสิ้นสุดที่นี่ จึงมีสภาพเป็นหนองน้ำมีปลาชุกชุม ชาวบ้านใช้กะต๊ำในการจับปลา มุมกำแพงนี้จึงเรียกว่า "แจ่งกะต๊ำ"

แผนภูมินคร นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

ลักษณะการวางผังเมืองของเมืองเชียงใหม่ สอดคล้องกับชัยภูมิและความเชื่อทางโหราศาสตร์ คือ คัมภีร์มหาทักษา ตามทิศของแผนภูมินคร คือ บริวารเมือง อายุเมือง เดชเมือง ศรีเมือง มูลเมือง อุตสาหเมือง มนตรีเมือง และกาละกิณีเมือง

ความรู้เรื่องประตูเมืองและแจ่งต่างๆ

ทำแบบจำลองได้สวยดี

ในด้านภาษาและอักษร เชียงใหม่ล้านนา เชียงตุง และสิบสองปันนา มีภาษาเขียนร่วมกัน คือใช้อักษรธรรม(อักษรเมือง) ที่พัฒนามาจากอักษรมอญ มีต้นตอจากประเทศอินเดีย

ทางด้านวัดและพระพุทธศาสนา

เงินตราในอณาจักรล้านนา

ชีวิตความเป็นอยู่

เงินตราอณาจักรลานช้าง(ลาวและภาคอีสานของไทย) เงินที่มีลักษณะยาวๆ ด้านซ้ายมือเรียกว่า เงินฮ้อย ตรงกลางเรียกว่าเงินลาด ส่วนขวามือสุดเรียกว่า เงินลาดฮ้อย ภาพเล็กมองไม่ชัด

เงินตราอณาจักรโยนก เชียงแสน อันนี้คือเงินกำไลมูลค่า 4 บาท

จากห้องหนึ่ง เราก็ต่อมายังอีกห้อง บริเวณนี้เป็นบริเวณระเบียงด้านนอก

การทำป่าไม้

ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชสำนัก สตรีในภาพคือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สร้างอุโมงค์ให้รถไฟสายเหนือผ่านที่ดอยขุนตาล

หอศิลปวัฒนธรรมที่เราไปเยี่ยมชม เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เมื่อย้ายศาลากลางไปอยู่ที่ศูนย์ราชการใหม่ ทางเทศบาลเมืองเชียงใหม่จึงปรับปรุงอาคารให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรม

เครื่องใช้ในสมัยก่อน ที่ขุดค้นพบ

พระเจ้ากาวิโลรส

ต้นเค้าของสายสกุล "เจ้าเจ็ดตน" ซึ่งเป็นที่มาของสายสกุล "ณ เชียงใหม่"

ตราประจำราชสำนักเชียงใหม่

เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1(พระเจ้ากาวิละ) ถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3

 เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 4 ถึงเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7

วันที่เราไปมีนักเรียนมาศึกษานอกสถานที่ น่ารักดีใส่ผ้าถุงด้วย ^_^

ห้องชีวิตริมฝั่งแม่น้ำปิง อันนี้ไม่ค่อยได้ถ่ายอะไรมา

ห้องคนในเวียง

ความเป็นอยู่ของคนในเวียงเชียงใหม่

เป็นหุ่นปั้นขนาดเกือบเท่าคนจริง เอ๊ะ! หรือเท่า -_-a วันนั้นไม่ค่อยมีคนถ่ายรูปแล้วก็รีบเดินต่อ บรรยากาศมันสลัวๆ 555

ในตลาดและในครัว

เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนารถ ได้เสด็จเยือนราษฎรในจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2501

สังคมเกษตร

เครื่องแต่งกายของชาวเขาเผ่าต่างๆ

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา

จากนั้นออกมาด้านนอก ก็จะเป็นในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียน ในช่วงนั้นเป็นช่วงของวันลอยกระทง ที่เชียงใหม่จะมีประเพณีที่ชื่อว่า ยี่เป็ง หรือที่คนเมืองเรียกว่า ป๋าเวณีเดือนยี่เป็ง ตรงนี้ก็จะมีการสาธิตและให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเพณีนี้

นอกจากนี้ด้านข้างก็ยังเป็นห้องสมุดล้านนา

ด้านล่างจะมีร้านขายของที่ระลึกและเครื่องดื่ม ที่นี่เป็นอาคารและมีลานตรงกลาง อาคารสวยงามร่มเย็น มาเชียงใหม่ทั้งทีแนะนำให้มาที่นี่ด้วยค่ะ จะทำให้เรารู้จักเมืองเชียงใหม่มากขึ้น ได้รับความรู้ต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่มากมาย

เดินออกมาจากหอศิลปวัฒนธรรม เพื่อไปไหว้พระที่วัดสะดือเมืองที่อยู่ด้านข้าง เจดีย์สะดือเมืองที่เรามองผ่านหน้าต่างตอนอยู่ด้านใน

เดินข้ามฝั่งมาไหว้พระที่วัดอินทขิล(สะดือเมือง)

จากนั้นเห็นด้านข้างมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ น่าสนใจดีเลยเข้าไปดู เข้าชมฟรีค่ะ

พระแก้วมรกตที่อยู่ด้านหน้า ด้านในห้ามถ่ายรูป เลยไม่มีรูปมาให้ดูนะคะ ด้านในจัดได้น่าสนใจ มีหุ่นขี้ผึ้งบุคคลสำคัญๆ ของเมืองเชียงใหม่ และข้าวของเครื่องใช้สมัยเก่า น่าสนใจทีเดียวค่ะ

จากวัดสะดือเมือง ชีพจรลงเท้าอีกแล้ว เราก็เดินต่อไปเรื่อยๆ จุดหมายของเราจริงๆ คือ "ร้านเย็นตาโฟศรีพิงค์" ครั้นจะเรียกรถแดงจากแถววัดสะดือเมือง คงหาคันที่จะไปแถวถนนสุเทพยาก เลยตัดสินใจเดินไปก่อน ค่อยไปหารถแถวประตูสวนดอก เดินไปเรื่อยๆ จนถึงวัดพระสิงห์ (ระยะทางไกลพอสมควรเลย ร้อนด้วยแต่ไม่หวั่น) แวะกินชาชักก่อน เป็นร้านที่อยู่บนรถ ชื่อนราชาชัก

ทีแรกกะจะไม่แวะวัดพระสิงห์เพราะเคยมาแล้วสองรอบ แต่มาถึงแล้วก็ต้องเข้าไปไหว้พระ

แล้วก็ถ่ายรูปเหมือนเคย ด้านข้างของหอไตร

หอไตรด้านหน้า

เข้าไปไหว้พระด้านในพระอุโบสถ

จากวัดพระสิงห์เดินมาถึงประตูสวนดอก ร้อนมากๆ โบกรถแดงไปหลัง มช.(ถนนสุเทพ) คนขับให้นั่งข้างหน้าเลย ดีเหมือนกันไม่ร้อน บอกคนขับว่ามาลงที่ร้านเย็นตาโฟศรีพิงค์ พี่คนขับเลยบอกว่า มีอีกร้านอยู่ที่กาดธานินท์ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ากาดธานินท์อยู่ตรงไหน ก็ฟังไว้ยังนึกว่ามี 2 สาขาหรือนี่ แล้วก็แนะนำที่เที่ยวอีกมากมาย เสียค่ารถไป 20 บาท ลงมาถึงร้านปรากฏว่าเย็นตาโฟหมดแล้ว >_< กางแผนที่ทันที ว่ามีร้านอะไรอีกบ้าง เดินผ่านย้งข้าวต้ม โจ๊กศรีพิงค์

ไปแวะร้าน ฮ้านถึงเชียงหใม่ เห็นเจ้า เคยพูดถึงครั้งก่อนมาเคยมากิน อาหารถูกดี ดูตามแผนที่แล้ว เป็นซอยเดียวกับวัดอุโมงค์ที่เราจะไปก็เลยไปร้านนี้ละกัน พอถึงร้าน ก็เป็นร้านธรรมดาๆ มาก ที่เหมือนเป็นที่กินข้าวของนักศึกษาที่พักอยู่แถวนั้น ราคานักศึกษามากๆ รสชาติก็พอได้นะ รีวิวร้านนี้ไว้แล้วที่ พากิน ร้านฮ้านถึงเชียงใหม่ อาหารตามสั่ง อาหารเมือง ราคาถูกจริงนะ

กินเสร็จก็ออกเดินทางต่อ เดินทะลุซอยมาทางเข้าซอยวัดอโมงค์ นึกว่าไม่ไกลเลยตัดสินใจเดินเข้าไป เดินไปก็ไม่มีวี่แววว่าจะถึงสักที ป้ายก็ไม่มีบอก เลยเดินย้อนกลับมาถามแม่ค้าขายไก่ทอด ได้ความว่าเดินไปประมาณ 10 นาทีก็ถึง ก็อืมมันคงไม่ไกลจริงๆ เราก็เดินๆๆ ตอนแรกก็ยังมีบ้านคนอยู่บ้าง แต่มีบางช่วงจะเปลี่ยวนิดนึง(เดินไปได้เรา) ไกลพอสมควร แล้วเราก็มาถึงวัดจนได้

มาถึงก็เย็นมากแล้ว ภายในวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ วัดอุโมงค์ มีทั้งส่วนที่เป็นวัดและสวนพุทธธรรม เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช

เดินขึ้นไปด้านบน

เหมือนจะเป็นยักษ์ทวารบาล

พิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายในวัด

 เสาหินอโศกจำลอง ของจริงอยู่ที่ประเทศอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอดีต และทำให้เราได้รำลึกถึงพระราชเกียรติของพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่

ภิกขุปัญญานันทะ

ช่องทางเข้าไปในอุโมงค์ บริเวณนี้จะเหมือนมีฐานด้านบนขนาดใหญ่ ด้านล่างเป็นอุโมงค์มีทางเข้าได้หลายทาง มีพระพุทธรูปอยู่ด้านใน

ด้านในอุโมงค์ ถ่ายมาแค่ไม่กี่รูปเพราะแบตหมดทั้งกล้องทั้งมือถือ >_< ที่วัดนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกที่คือ เจดีย์ 700 ปี ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดไปด้านบน เป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มีอิทธิพลจากศิลปะพม่าแบบพุกาม นอกจากนี้ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โรงภาพปริศนาธรรม ถ้ามีโอกาสไปอีกจะเก็บภาพมาอัพเดทค่ะ

กว่าจะออกจากวัดอุโมงค์ก็เย็นมากแล้ว เดินออกมาด้านหน้ามีรถสามล้อให้บริการอยู่ ลุงคนขับบอกว่าจะประจำอยู่ตรงนี้ตลอดราคาเที่ยวละ 20 บาท หรือเวลามาจะโทรให้ออกไปรับก็คิด 20 บาทเหมือนกัน นั่งรถมาลงที่ถนนสุเทพ ข้ามมาฝั่งมช.แล้วโบกรถสามล้อไปร้านสึนามิหน้า มช. ตอนนั้นรถติดมาก คนขับสามล้อเลยพาวนเข้าไปใน มช.เพื่อทะลุประตูด้านหน้า เสียค่ารถไป 60 บาท สามล้อแพงจริงอะไรจริงกว่ารถแดงอีกนะเนี่ย แล้วก็มากินอาหารญี่ปุ่นมื้อเย็นกันที่ร้านสึนามิ คนเยอะมากร้านนี้ อิ่ม อร่อย ราคาไม่แพงมาก เคยรีวิวไว้แล้วที่ พากิน อาหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ ร้าน Tsunami Sushi Bar

หมดไปอีกวันสำหรับวันนี้ เดินจนเหนื่อยและเมื่อยไปหมด แต่สนุกดี วันต่อไปเราจะไปเดินศึกษาธรรมชาติกันที่ดอยปุย แล้วก็จะไปแวะบ้านม้งดอยปุย ติดตามตอนต่อไปนะคะ ตอนสุดท้ายของทริปน้ำท่วมครั้งนี้แล้วค่ะ ^_^

ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม Blog ของ bombik ค่ะ แล้วแวะมาอีกนะคะ ^_^

1 comment on "หนีน้ำท่วมไปแอ่วเชียงใหม่ ตอนที่ 4/5 หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และ วัดอุโมงค์"

Esanindy's picture
Esanindy (visitor) said on Tue, 10/09/2012 - 21:29:

นึกถึงตอนเด็กๆ เลยครับ ไปโรงเรียนแล้วมีเพื่อนๆสนุกดี

Esanindy.wordpress.com
อีสานอินดี้ เว็บดีมีสาระ สืบสานวัฒนธรรมอีสาน

Powered by Drupal, an open source content management system

Copyright © 2009 bombik - Theme ported to Drupal by kong
CSS Templates by Inf Design - Valid XHTML & CSS