หนีน้ำท่วมไปแอ่วเชียงใหม่ ตอนที่ 3/5 วัดศรีสุพรรณอุโบสถเงิน

ต่อจากตอนที่แล้ว หนีน้ำท่วมไปแอ่วเชียงใหม่ ตอนที่ 2/5 วัดพระธาตุดอยสุเทพ

วันนี้คนอื่นๆ ไปทำงานกันหมด มาเชียงใหม่ทั้งทีจะอยู่เฉยๆ ในที่พักคงไม่ใช่เรา ทานข้าวเช้าเสร็จ สายๆ ก็ออกมาเดินเที่ยวในเมืองคนเดียว ตั้งแต่สายๆ ถึงค่ำๆ ในเมืองเชียงใหม่เดินเที่ยวคนเดียวได้ชิลๆ ไม่น่ากลัว คนเชียงใหม่ใจดี การเที่ยวในวันนี้เดินบ้าง ขึ้นรถเหลืองบ้าง รถแดงบ้างแล้วแต่โอกาส แต่ส่วนใหญ่จะเดินๆๆ โปรแกรมของวันนี้คือ

  • ข้าวซอยที่ร้านพิมสาร
  • วัดศรีสุพรรณโบสถ์เงินที่เดียวในโลก
  • ศูนย์ศึกษาศิลปไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ วัดศรีสุพรรณ
  • หอศิลปะวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
  • ป๋องก๋วยจั๊บ ข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
  • เค้กร้านเฟิร์นฟอเรส
  • อาหารเมืองร้านฮ้านถึงเชียงใหม่
  • วัดอุโมงค์
  • สึนามิซูชิบาร์

วันนี้จะแบ่งรีวิวเป็นสองตอนนะคะ ตอนนี้จะพาไปชมโบสถ์เงินแห่งเดียวในโลก และ ศูนย์ศึกษาศิลปไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ วัดศรีสุพรรณ

ช่วงเช้าเราไม่ได้ทานอาหารเช้าที่โรงแรม เดินออกมาหาข้าวซอยกันที่ร้านพิมสาร รีวิวร้านนี้ไว้แล้วที่ >> พากิน ข้าวซอยที่ร้านอาหารบ้านพิมสาร หนองหอย จ.เชียงใหม่ เป็นอาหารที่มีข้าวซอยอร่อยใช้ได้ทีเดียว ร้านตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-ลำพูน

จากหน้าที่พัก เรารอรถประจำทางสองแถวสีฟ้าสายเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งจะวิ่งผ่านหน้าที่พัก เราขึ้นมาลงที่ขัวเหล็ก รถจะจอดพักบริเวณนั้นพอดี

ขัวเหล็ก ก็คือ สะพานเหล็ก อยู่ไม่ไกลจากสะพานนวรัฐ

วิวแม่น้ำปิงด้านซ้าย

วิวแม่น้ำปิงด้านขวา เห็นสะพานนวรัฐอยู่ไกลๆ

บริเวณริมแม่น้ำใกล้ๆ สะพานกำลังมีการก่อสร้าง ด้านข้างจะเป็นเรือนโบราณ เดี๋ยวเราจะข้ามไปดูกันค่ะ

จากถนนเชียงใหม่-ลำพูน เดินข้ามขัวเหล็กมาจะเป็นถนนลอยเคราะห์ เราเดินเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญประเทศ เดินมานิดนึงก็เจอกับเฮือนไทยโบราณอยู่ทางซ้ายมือ เป็นเรือนไทยล้านนาอายุร้อยกว่าปี(ที่ป้ายเขียนว่า 140 ปี) อยู่ริมแม่น้ำปิง

เดินต่อมาเรื่อยๆ ผ่าน The Chedi ที่พักหรูอีกที่ในเชียงใหม่ อยู่ริมน้ำปิง

จากเดอะเจดีย์จะเป็นสามแยก เราเดินเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีดอนชัย เดินชมเมืองไปเรื่อยๆ  มุ่งหน้าไปประตูเชียงใหม่ จุดหมายแรกของเราคือ วัดศรีสุพรรณ

ตรงนี้ร่มรื่นดี ไม่รู้ว่าเป็นที่พักหรือร้านอาหาร

ลูกฟักข้าว

ระหว่างทางผ่านวัดวัดนึง จำไม่ได้ว่าชื่อวัดอะไร เลยแวะเข้าไปไหว้พระ

พระเจ้าทันใจ ประทานพร บันดาลโชค

พระอุโบสถ สวยงามแบบล้านนา

ด้านหน้าพระอุโบสถ

หอระฆัง

เดินมาเรื่อยๆ จนถึงคูเมืองเก่า ถนนราชเชียงแสน ตรงนี้คือแจ่งก๊ะต๊ำ แจ่ง เป็นภาษาเหนือ แปลว่า มุม บริเวณนี้จะเป็นมุมหนึ่งของคูเมืองเชียงใหม่

คูเมืองเชียงใหม่มีทั้งหมด 4 มุม สัณนิษฐานว่าตรงนี้แต่เดิมมีความอุดมสมบูรณ์ ปลาชุกชุม จนมีคนมาจับปลากันมากบริเวณนี้ ก็เลยเรียกแจ่งนี้ว่า ก๊ะต๊ำ ตามชื่อเครื่องมือจับปลา

เดินชมเมืองและถ่ายรูปมาเรื่อยๆ ผ่านปั๊มน้ำมันปั๊มนี้ เป็นปั๊มเติมเอง คนขับรถต้องไปชำระเงินที่ตู้ก่อน แล้วจึงมาเติมน้ำมันได้

ในที่สุดก็ถึงแล้ว ประตูเชียงใหม่ แต่ก่อนเป็นประตูท้ายเวียง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ แต่ก่อนเป็นเส้นทางสำคัญที่จะออกเดินทางไปเวียงกุมกามและลำพูน

รถแดงเมืองเชียงใหม่ เดินมาถึงตรงหน้าประตูเชียงใหม่ ดูจากแผนที่แล้วไม่แน่ใจว่าอีกไกลกว่าจะถึงวัดศรีสุพรรณไหม พอดีเจอลุงขับรถเหลืองบอกว่า ไกลพอสมควร ก็เลยขึ้นรถสองแถวเหลืองของแกมา เป็นรถเหลืองที่จอดอยู่ตรงข้ามประตูเชียงใหม่ เป็นรถที่ไปอำเภอจอมทอง ถ้าจะไปดอยอินทนนท์ขึ้นรถนี้ไปได้

เรามาลงที่ปากทางเข้าวัดศรีสุพรรณ ที่ถนนวัวลาย ต้องเดินต่อเข้าไปอีกนิดนึง

ย่านนี้จะเป็นย่านทำเครื่องเงินที่เรียกว่า บ้านวัวลาย เราไปวันที่ 18 พฤศจิกายน อีกวันถัดไปจะมีงานเปิดวัฒนธรรมบ้านวัวลายในวันที่ 19 พฤศจิกายน

เดินจากถนนวัวลายเข้ามาไม่ไกล ก็ถึงประตูทางเข้าวัด

ยักษ์หน้าประตูวัด

หน้าพระอุโบสถ

ริมประตูทางเข้าพระอุโบสถ จะมียักษ์อยู่ 2 ตน

นาคหน้าบันได

ด้านในพระอุโบสถ

พระพุทธปาฏิหาริย์ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) ทั้งองค์เงินและทอง

ป้ายบอกทางภายในวัด สวยดี ^^

บริเวณนี้กำลังมีการก่อสร้าง วัดศรีสุพรรณได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้เป็นอุทยานการศึกษาในวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2545

ภายในวัดยังมีกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ ช่างหล่อ หัตถกรรมเครื่องเงิน เครื่องเขินวัวลาย ตอนนี้กำลังมีการจัดสร้างตราประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด

ของโบราณ

ด้านข้างพระอุโบสถ

ประตูทางเข้าพระอุโบสถด้านข้าง สวยมาก

ตัวมอมที่บันไดพระอุโบสถ

ศาลาน้ำสมุนไพร มีน้ำสมุนไพรต้มให้ดื่มด้วย

เดินมาดูอุโบสถเงินด้านข้าง รอบๆ อุโบสถตกแต่งด้วยแผ่นเงินขึ้นลายสวยมาก

ถ้ามองดูใกล้ๆ จะดูว่าละเอียดและฝีมือประณีตมาก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ

โอวาทปาติโมกข์

ด้านข้างของพระอุโบสถ

สวยงามทุกรายละเอียดจริงๆ

ด้านหน้าพระอุโบสถเงิน ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ถึงจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็เห็นความสวยงามของพระอุโบสถแล้ว

ต้นโพธิ์ทองที่อยู่ด้านหน้า

เราไม่สามารถเข้าไปด้านในด้าน เพราะห้ามสุภาพสตรีเข้า จากป้ายด้านหน้าแจ้งว่า เนื่องจากใต้ฐานพระอุโบสถ เขตพัทธสีมา(ภายในกำแพงแก้ว) ฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของมีค่า คาถาอาคม และเครื่องรางของขลังไว้กว่า 500 ปี อาจก่อให้เกิดความเสื่อมกับสถานที่หรือตัวสุภาพสตรีเอง ตามจารีตล้านนา จึงห้ามสุภาพสตรีขึ้นอุโบสถหลังนี้

ภายในพระอุโบสถเงินมีองค์พระประธาน ที่ชาวบ้านเรียกว่า พระเจ้าเจ็ดตื้อ  เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอก  สูง 4 ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง มีตำนานเล่าว่า พระประธานองค์นี้แสดงพุทธปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างอุโบสถอยู่เป็นประจำ สำหรับผู้มาอธิษฐานจิตกราบไหว้อยู่เป็นประจำจะประทานความสำเร็จสมปรารถนาให้

ภายในวัดก็จะมีป้ายคำสอนที่เป็นแผ่นโลหะเงินติดอยู่ทั่วไป สวยดี ^_^

อุโบสถเงินสร้างในเขตพัทธสีมาและฐานเดิม มีการเพิ่มเติมรูปทรงให้เป็นแบบล้านนาโบราณ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน และประดับตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยหัตถกรรมเครื่องเงิน โดยใช้วัสดุทั้งเงินบริสุทธิ์ เงินผสมและวัสดุแทนเงิน คือ อลูมิเนียม และดีบุก สลักลวดลายเป็นภาพสามมิติ ลวดลายนูนสูง-นูนต่ำ เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ปริศนาธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา สัญลักษณ์แทนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประวัติศาสตร์ของวัดและชุมชน ตลอดถึงวิธีการ ขั้นตอนลวดลาย ประจำตระกูลช่างเครื่องเงินของบ้านศรีสุพรรณ โดยช่าง(สล่า) เครื่องเงินของบ้านศรีสุพรรณ ข้อมูลส่วนนี้จากเว็บไซต์ของวัดศรีสุพรรณ

พระพิฆเนศ

 ร้านวิสาหกิจชุมชนวัดศรีสุพรรณ จำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่างๆ

หลังจากไหว้พระและชมอุโบสถเงินเสร็จแล้ว เราเดินมายังศูนย์ศึกษาศิลปไทยโบราณ ซึ่งแต่เดิมเป็นกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ จัดตั้งโดยชาวบ้าน พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ คณะกรรมการวัด ต่อมาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณ สล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ขึ้นภายในวัด เพื่อถ่ายทอดและสืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนขึ้น โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รับผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ข้อมูลส่วนนี้จากเว็บไซต์ของวัดศรีสุพรรณ

เดินเข้าไปดูด้านใน ก็จะเห็นขั้นตอนการทำแผ่นเงิน ที่เป็นลวดลายนูนต่ำนูนสูง

สวยมาก

สีดำๆ ที่เห็นอยู่นี้คือชัน ที่เป็นส่วนสำคัญในการทำเครื่องเงิน เมื่อต้องการขึ้นลายต่างๆ จะนำแผ่นเงินวางทาบบนชันแล้วตอกลายด้านใน พอตอกลายเสร็จก็นำชันใส่ให้เต็มด้านที่ตอก แล้วคว่ำเพื่อตอกลายด้านนอกและเก็บรายละเอียด

กำลังตอกลายตามแบบกระดาษที่วางทาบไว้ด้านบน

ตรงนี้น่าจะเป็นตราจังหวัดที่กำลังดำเนินการจัดสร้าง

ที่นี่จะมีการเรียนการสอนการทำเครื่องเงินสำหรับผู้ที่สนใจด้วย แต่วันที่เราไปเขาหยุดพอดี

เดินดูไปเรื่อยๆ ไปเจอกับคุณป้าท่านี้กำลังตอกลายด้านนอกอยู่ เห็นเราสนใจก็เลยเล่าถึงขั้นตอนการทำ เอาตัวอย่างมาให้ดู และชวนเรามางานพรุ่งนี้ด้วย ใจดีมาก ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความรู้ ^_^ สังเกตทางด้านขวา จะมีอุปกรณ์หลายชิ้นที่ไว้สำหรับตอกลาย

ส่วนนี้ก็จะทำรายละเอียดต่างๆ ที่จะไปติดที่พระอุโบสถเงิน และ งานที่รับทำตามออร์เดอร์ อย่างเช่นงานนี้เป็นต้น

เตาเคี่ยวชัน

แผ่นชันที่ใช้สำหรับรอง

ส่วนที่ตอกลายและแกะออกไปแล้ว

รอการตอกลายด้านนอก เพื่อเก็บรายละเอียด

ตรงนี้เป็นส่วนที่ตอกลายด้านในเรียบร้อย และใส่ชันเพื่อรอการตอกลายด้านนอก

ที่เรียน

สถานฝึกอบรมศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินและเครื่องประดับ วัดศรีสุพรรณในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

ป้ายสุขาที่สวยที่สุด

จากวัดศรีสุพรรณ เราเดินออกมาทางเดิมเพื่อมารอรถสองแถวเหลือง(จริงๆ ก็มีรถแดงผ่านไปมาเยอะนะ) ย่านถนนวัวลาย จะเป็นถนนศิลปหัตถกรรมเครื่องเงิน สองข้างทางจะพบร้านเครื่องเงินได้ทั่วไป

เขาขึ้นรถเหลืองมาลงที่ฝั่งประตูเชียงใหม่ คนขับรถเหลืองบอกว่า รถเหลืองราคาเริ่มต้น 10 บาท รถแดงราคาเริ่มต้น 20 บาท ถ้าเส้นทางไหนมีรถเหลืองวิ่งผ่านรอรถเหลืองดีกว่าราคาต่างกันตั้ง 10 บาท

จากตลาดตรงประตูเชียงใหม่ เดินเข้ามาในเขตเมืองเก่า มาตามถนนพระปกเกล้า ทีแรกตั้งใจจะเดินถ่ายรูปวัดไปเรื่อยๆ เพราะถนนเส้นนี้จะผ่านวัดหลายวัด รวมทั้งวัดเจดีย์หลวงและวัดพันเตาด้วย ตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงจุดหมายต่อไปของเราคือ หอศิลปะวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เดินมาได้หน่อยก็เจอกับร้านไข่กะทะเลิศรส น่าทานมาก แต่ตอนนนั้นยังอิ่มอยู่

จากร้านไข่กะทะ ก็มาที่วัดฟ่อนสร้อย จากวัดนี้แดดร้อนมากมาย เห็นทีจะเดินต่อไปไม่ไหว -_-'  เลยยืนรอรถสองแถวเหลืองเพื่อนั่งไปลงที่อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์

ตอนต่อไปจะพาไปชมหอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่กันค่ะ มื้อกลางวันร้านป๋องก๋วยจั๊บ ข้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เค้กร้านเฟิร์นฟอเรส อาหารเมืองร้านฮ้านถึงเชียงใหม่ วัดอุโมงค์ และ มื้อเย็นที่ร้านสึนามิซูชิบาร์ หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ

ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม Blog ของ bombik ค่ะ แล้วแวะมาอีกนะคะ ^_^

Powered by Drupal, an open source content management system

Copyright © 2009 bombik - Theme ported to Drupal by kong
CSS Templates by Inf Design - Valid XHTML & CSS