จากตอนที่แล้ว เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น1 : ไปแล้วก็อยากจะไปอีก สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างหนึ่งตอนไปญี่ปุ่น คือ ห้องน้ำ ถ้าได้ดูเดี่ยว 8 ของโน้ตอุดม ที่พูดถึงเรื่องส้วมของญี่ปุ่น มีหลายคนคงอยากจะลองไปนั่งส้วมญี่ปุ่นสักครั้ง Post นี้เลยจะขอมาเล่า เกี่ยวกับส้วมและห้องน้ำที่ได้ไปใช้มาที่ญี่ปุ่นให้ฟังกันค่ะ เท่าที่สังเกตของใช้ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันในร้าน 60 บาท ที่ขายของญี่ปุ่นในเมืองไทย ทำให้ได้รู้ว่าคนญี่ปุ่น เป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจจะคิดไม่ถึง ยกตัวอย่าง เช่น ถุงมือก็มีแบบใส่แล้วสามารถเปิดผ้าอีกชั้นเพื่อใช้นิ้วได้ นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของเรื่องเล็กๆ ที่เขายังใส่ใจ เรื่องสำคัญอย่างห้องน้ำ ที่ต้องใช้อยู่ทุกวันวันละหลายๆ ครั้ง ก็ได้รับการใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความสะอาด ความสะดวกสบาย การอำนวยความสะดวกให้กับทุกๆ คน และที่สำคัญ มันเป็นส้วมที่ทันสมัยมาก ตามไปดูส้วมญี่ปุ่นกันค่ะ
เท่าที่เห็นจากการไปเที่ยวครั้งนี้ ส้วมญี่ปุ่นจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบนั่งยองๆ แบนราบกับพื้น จะเป็นส้วมญี่ปุ่นแบบโบราณ กับ แบบที่เป็นโถนั่งแบบตะวันตก ซึ่งทั้งสองแบบใช้วิธีการชักโครกเหมือนกัน ไม่มีแบบที่ต้องตักน้ำมาราดเอง เหมือนในบางที่แบบบ้านเราแล้ว ห้องน้ำแต่ละที่ก็จะมีส้วมที่แตกต่างกันไป ปุ่มกดและการชำระล้างก็จะต่างกัน ลองไปดูในแบบต่างๆ เท่าที่เราเจอมากันค่ะ
ห้องน้ำแรกที่เข้าคือห้องน้ำที่สนามบินนาริตะ แต่ในภาพที่เห็นด้านล่างเป็นห้องน้ำบนทางด่วน แต่ละห้องจะมีสัญลักษณ์บอกอย่างชัดเจนไว้หน้าห้อง บอกลักษณะของส้วม(สัญลักษณ์สีแดงๆ) ว่าเป็นแบบนั่งโถหรือนั่งยองๆ สัญลักษณ์ เช่น ห้องสำหรับคนพิการ คนแก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ห้องสำหรับคนที่อุ้มลูกเล็กๆ มาด้วย จะได้เข้าได้ถูกห้องไม่ต้องไปเปิดๆ แง้มๆ ดูให้เสียเวลา
มาซูมๆ ดูสัญลักษณ์กันดีกว่า ภาพเบลอหน่อยนะคะเพราะซูมมาจากภาพใหญ่ สัญลักษณ์แบบนี้มีบอกในห้องน้ำทุกที่ ว่าเป็นส้วมแบบไหน ถ้าเป็นห้องสำหรับเด็กฝารองนั่งจะมี 2 ชิ้นซ้อนกัน พอเด็กเข้าก็จะมีฝารองนั่งเล็กสำหรับเด็ก ภาพล่างซ้ายที่เห็นมีเด็กกับผู้หญิง เป็นห้องสำหรับผู้หญิงที่พาลูกเล็กๆ มาด้วย เวลาที่ทำธุระจะได้ไม่ต้องอุ้มลูกให้ทุลักทุเล จะมีที่นั่งสำหรับเด็กให้ในห้อง และเราก็ทำธุระได้ตามสะดวก ภาพล่างซ้ายเป็นห้องสำหรับคนพิการ คนที่นั่งรถเข็น คนแก่ สตรีมีครรภ์ ในห้องก็จะกว้างกว่าห้องปกติมาก และมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบ ห้องน้ำในบางที่มีปุ่ม Emergency ด้วย ไว้กดเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินในห้องน้ำ อย่าไปนึกว่าเป็นปุ่มกดชักโครกเชียว >_<
ในห้องน้ำที่ญี่ปุ่น เท่าที่เข้ามาทุกที่ มีทิชชู่พร้อมเสมอไม่เคยเข้าไปแล้วทิชชู่หมดเลยสักที่
มาดูส้วมแบบแรกกัน เป็นส้วมญี่ปุ่นโบราณ เป็นแบบนั่งยองๆ ในรูปป้ายวิธีการนั่งที่ถูกต้อง ต้องหันหน้าเข้าด้านที่เป็นกระบัง เราว่าเป็นวิธีการคิดส้วมที่ดีนะ เวลาฉี่จะได้ไม่กระเด็นออกไปด้านนอก เพราะมีกระบังกันไว้ ถ้าสังเกตเวลาเราฉี่ส้วมแบบนั่งยองๆ ที่บ้านเรา เวลาฉี่จะกระเด็นออกไปบนพื้น ทำให้ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็น
ส้วมแบบนี้จะวางอยู่ในระดับเดียวกับพื้น ไม่มีฐานขึ้นมาแบบส้วมนั่งยองๆ บ้านเรา พอทำธุระเสร็จก็กดปุ่มชักโครกด้านข้าง(ที่เห็นเป็นปุ่มกลมๆ)
และถึงแม้ว่าจะเป็นส้วมแบบเดียวกัน แต่การชำระล้างหรือการกดชักโครกในแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน บางที่พอลุกออกมามันก็จะชักโครกให้โดยอัตโนมัติ อย่างในภาพที่เห็นเท่าที่จำได้เป็นส้วมบนสถานนีรถไฟ
ซูมให้เห็นกันชัดๆ ปุ่มชำระล้างจะเป็นแบบเซ็นเซอร์ บางที่พอทำธุระเสร็จ ลุกขึ้นมันก็จะชักโครกให้อัตโนมัติ แต่บางที่ก็ต้องเอามือไปผ่านหรือเอามือไปบังตรงเซ็นเซอร์ไว้ มันก็จะจัดการให้เรียบร้อย
บางที่ก็มีวิธีใช้เฉพาะภาษาญี่ปุ่น แต่บางที่ก็มีภาษาอังกฤษด้วย ในภาพด้านล่างเป็นห้องน้ำในพิพิธภัณฑ์ Miraikan ต้องเอามือไปวางตรงเซ็นเซอร์จึงจะชักโครก
ดูส้วมแบบแรกไปแล้ว มาดูอ่างล้างมือกันบ้าง อ่างล้างมือทุกที่(ที่ไปมา) เป็นเซ็นเซอร์ทุกอ่าง ห้องน้ำแต่ละที่จะมีสบู่ล้างมือให้เสมอ
จริงๆ อ่างล่างมือแบบเซ็นเซอร์มันก็ไม่ได้แปลกอะไร ในห้างก็มีให้เห็น แต่ที่แปลกคือพยายามมองหาเซ็นเซอร์ว่ามันอยู่ตรงไหน แต่ก็หาไม่เจอ =.=
มาดูส้วมแบบโถนั่งบ้าง อันนี้จะดูทันสมัยกว่าส้วมแบบนั่งยองๆ เพราะแบบนี้จะมีปุ่มกดต่างๆ และปุ่มชำระล้างอยู่ด้วย ถ้าก้มลงไปมองด้านล่างฝารองนั่งก็จะพบท่อชำระซ่อนอยู่ แต่ละที่ก็จะมีฟังก์ชั่นให้เลือกใช้ต่างกัน แต่หลักๆ ทั่วไปก็จะมีท่อชำระล้าง 2 ท่อ บางที่จะมีเป่าลม ปรับอุณหภูมิฝารองนั่ง อุณหภูมิของน้ำ ความแรงของน้ำ
แผงปุ่มกด ของห้องน้ำในแต่ละที่ อาจจะอยู่ในที่ที่ต่างกัน บางที่อยู่ด้านข้างของโถส้วม บางที่ติดไว้บนผนัง และปุ่มชักโครกก็จะต่างกันไปด้วย บางที่ปุ่มชักโครกอยู่บนแผงกด บางที่ก็แยกไว้อีกด้านของผนัง บางที่เป็นแบบดึงชักโครกธรรมดาๆ ห้องน้ำแต่ละที่ไม่เหมือนกันเลย พอเราเข้าไปนั่งปุ๊บ ก็จะได้ยินเหมือนเสียงเครื่องจักรกำลังพร้อมทำงาน พอกดปุ่มปุ๊บ ก็จะได้ยินเสียงของการเคลื่อนที่ อืดดดดด..วึดวึ้ด ปรับตำแหน่ง แล้วก็ ปี๊ดดดด พอเรากดหยุดมันก็เดินทางกลับเข้าไปที่เดิม
เรามาดูแผงปุ่มกดกันดีกว่า ดูจากสัญลักษณ์ก็เข้าใจได้เป็นภาษาที่เข้าใจกันได้ทั่วโลก ถึงแม้ว่าบางที่จะไม่มีภาษาอังกฤษเลย สัญลักษณ์ของปุ่มกดหลักๆ จะเหมือนกัน เริ่มจากซ้ายสุด
- ปุ่มสีส้ม คือ ปุ่มหยุด หยุดน้ำหรือลมที่ชำระล้างหรือเป่าอยู่
- ปุ่มสีฟ้า ที่เป็นรูปก้นแล้วมีน้ำพุ่งขึ้นมา คือ ชำระล้างเมื่อถ่ายหนัก
- ปุ่มสีชมพู ที่เป็นรูปผู้หญิงแล้วมีละอองน้ำพุ่งขึ้นมา คือ ชำระล้างของสุภาพสตรีเมื่อถ่ายเบา
- ปุ่มสุดท้ายนี้น่าจะเป็นปุ่มเป่าลม
ส่วนด้านล่าง อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกอ่ะ >_< น่าจะเป็นปุ่มปรับอุณหภูมิหรือความแรงของน้ำนี่แหละ ไม่ได้ลอง ส่วนใหญ่เวลาเข้าห้องน้ำ ใช้แป๊บๆ เราก็ไม่ได้ไปปรับหรือกดปุ่มพวกนี้อยู่แล้ว ส่วนปุ่มชักโครกก็อยู่ด้านบน มีให้เลือกกด 2 ปุ่ม
อย่างที่บอกว่าปุ่มชักโครกของส้วมแต่ละที่ จะอยู่ในตำแหน่งที่ต่างกัน ปุ่มกดอื่นๆ มันก็เหมือนๆ กันทุกที่ แต่ปุ่มกดชักโครกนี่สิ บางทีต้องหาดูว่ามันอยู่ที่ไหน ในภาพนี้ปุ่มชักโครกจะอยู่ที่ฐานนั่งด้านหลัง เป็นแบบใช้มือกดธรรมดาๆ
ปุ่มกดก็คล้ายๆ กัน อันนี้มีภาษาอังกฤษด้วย ที่ปรับอุณหภูมิของน้ำเป็นแบบหมุน มีปรับระดับความแรงของน้ำที่ฉีดด้วย แต่ไม่มีเป่าลม
อันนี้ที่กดชักโครกอยู่ตรงท่อด้านบน เป็นแบบธรรมดาๆ ที่เราคุ้นเคย ด้านซ้ายมือในรูป จะเห็นปลั๊กเสียบ ซึ่งแน่นอนอุปกรณ์ไฮเทคขนาดนี้คงต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน ปลั๊กเขาจะเป็นแบบที่มีระบบ Safety อยู่ด้วย
อันนี้ปุ่มกดเยอะไปหมด แต่ก็คล้ายๆ กัน ปรับอุณหภูมิน้ำ เป่าลม ปุ่มข้างหลังไม่ชัด แต่เดาเอาว่าน่าจะเป็นการปรับอุณหภูมิของฝารองนั่งและความแรงของน้ำ อย่างที่บอกว่าที่นี่เขาใส่ใจมาก ขนาดฝารองนั่งยังมีการปรับอุณหภูมิ ในหน้าหนาวที่มีอากาศหนาวจัดตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกก็ไม่ต้องสะดุ้งเพราะเย็นก้น นั่งแล้วอุ่นสบายดี ^_^
อย่างที่บอกว่าใส่ใจ บางที่ก็จะมีปุ่มกด 2 ที่ อีกที่จะเป็นปุ่มกดที่มีอักษร Braille สำหรับผู้พิการทางสายตา
อันนี้ที่กดชักโครกก็เป็นแบบธรรมดาที่เราคุ้นเคย
มาดูปุ่มกดกันบ้าง ปุ่มใหญ่ๆ ด้านซ้ายก็เป็นปุ่มทั่วไป จะมีปุ่มที่เพิ่มมาคือเป็นเสียง Sound สำหรับกลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ของเราระหว่างทำธุระ เพื่อไม่ให้คนที่เข้าห้องน้ำห้องข้างๆ หรือคนด้านนอกได้ยินเสียงที่ไม่พึงประสงค์ของเรา สามารถปรับระดับเสียงได้ด้วย ซ้ายมือล่างก็เป็นปรับระดับความแรงของน้ำที่ฉีด ถัดมาที่เป็นปุ่มกลมๆ ที่เขียนว่า ON/OFF ก็เป็นปุ่มระบบดับกลิ่น ด้านขวามือสุดก็เป็นปุ่มปิดเปิดฟังก์ชั่นต่างๆ เปิด sound ปุ่มทำความสะอาดหัวฉีด ปรับอุณหูมิน้ำ การอุ่นที่นั่ง
ด้านล่างเป็นภาพห้องน้ำที่อยู่ในห้างแห่งหนึ่ง ด้านขวาจะมีเหมือนกล่องสีขาวๆ ตรงนั้นคือเซ็นเซอร์และระบบทำเสียงเพื่อกลบเสียงที่ไม่พึงประสงค์ พอเราไปนั่งปุ๊บ เสียงก็จะเริ่มดัง จนเราทำธุระเสร็จลุกขึ้นเสียงก็จะหยุด พร้อมกับการชักโครกโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ต้องไปหาปุ่มกดชักโครกให้เสียเวลา
ตัวอย่างเสียง Flushing Sound ในห้องน้ำ
ด้านนอกของห้องน้ำบางที่จะมีแปลแบบนี้อยู่ เพื่อที่แม่ที่พาลูกมาด้วย ออกมาจากห้องน้ำแล้ว ต้องการล้างมือหรือแต่งหน้า ก็จะพาลูกมานั่งรอในนี้ก่อน นอกจากนี้ตามสถานีรถไฟหรือห้องน้ำในที่ต่างๆ ก็จะมีจุดสำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อมของเด็กด้วย ในห้องน้ำหญิงเกือบทุกที่จะมีเครื่องอำนวยความสะดวกแบบนี้ เพราะเท่าที่เห็น ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะมาซื้อของและมากับลูกเล็กๆ ตามลำพัง ในวันทำงาน
อันนี้รู้สึกจะเป็นห้องน้ำในห้างอิออน ภายในห้องน้ำจะมีส่วนของอ่างล้างมือ หากต้องการแต่งหน้าก็มีที่นั่งแต่งหน้าให้อีกฝั่งแบบสบายๆ มีโต๊ะนั่งรออยู่ตรงกลาง
ไม่ใช่แค่ห้องน้ำคน ใครที่เลี้ยงสุนัขก็ต้องรับผิดชอบในการทำความสะอาด เวลาสุนัขอึด้วย ในภาพจะเป็นถังสำหรับใส่อึสุนัข เลี้ยงแล้วก็ต้องรับผิดชอบในการทำความสะอาดเก็บกวาดให้เรียบร้อย ไม่ใช่ปล่อยให้เดินไปอึกองไว้หน้าบ้านคนอื่นอย่างแถวบ้านเรา
เล่ามาซะยาวเลย จริงๆ ในเมืองไทยบางที่(หรูๆ) ย่านในเมือง ก็มีส้วมอัตโนมัติแบบญี่ปุ่นเหมือนกัน และได้ยินมาว่าโถส้วมแบบญี่ปุ่นก็มีขายในเมืองไทยเหมือนกัน ตามร้านขายของแต่งบ้านและสุขภัณฑ์ใหญ่ๆ แต่ราคาก็น่าจะแพงอยู่นะ
ห้องน้ำญี่ปุ่นเป็นอีกอย่างที่ประทับใจ เพราะมันสบายมากๆ เท่าที่เจอมาก็เป็นแบบที่รีวิวมาข้างบน ยังไม่เคยเจอแบบที่เคยอ่านตาม fwd mail ที่ว่ามีอุปกรณ์ยื่นออกมาดึงผ้าอนามัย ไม่รู้มันมีจริงๆ หรือเป็นเรื่องเล่าอำกันขำๆ ขอจบเรื่องเล่าในญี่ปุ่น ไว้ที่เรื่องห้องน้ำแล้วกันนะคะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็จะเล่าไว้ในส่วนของพาเที่ยว Post หน้าจะพาไปไหว้พระและเดินเที่ยว ที่วัดอาซากุสะกันค่ะ
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม Blog ของ bombik แล้วแวะมาอีกนะคะ ^_^