ต่อจากตอนที่แล้ว พาเที่ยว ปาย ห้วยน้ำดัง ปางอุ๋ง (11) ดูทะเลหมอกที่ห้วยน้ำดัง
ในที่สุดก็มาถึงรีวิวตอนจบสักที เป็นรีวิวปาย 1 โหลพอดี หลังจากดูทะเลหมอกที่ห้วยน้ำดัง กลับมาถึงรีสอร์ทประมาณ 9.00 น. เช้านี้อากาศเย็นเหมือนกัน เวลาพูดมีไอออกจากปากเล็กน้อย ไม่ได้สัมผัสอากาศแบบนี้มานานมาก รถจะเข้ามาส่งด้านใน แต่เราให้ส่งด้านหน้าเพราะว่าจะไปถ่ายรูปเล่นที่ร้านกาแฟหน้ารีสอร์ท และ แวะทานข้าวเช้าก่อนที่จะไปเดินเล่นที่สะพานประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆ
ลงรถมาปุ๊บ ก็เจอตู้ไปรษณีย์กับบุรุษไปรษรีย์สุดหล่อ และพาหนะคู่ใจ ที่อยู่ด้านหน้าของร้านกาแฟที่อยู่หน้ารีส
ด้านหน้าของรีสอร์ทจะมีร้านกาแฟชื่อร้านคอฟฟี่ที่สะพาน(Coffee Tea Sapan) และร้านอาหารชื่อว่าสะพานปาย(Sa Pan Pai) เด่นตรงที่มีปิ่นโตสองเถายักษ์ ตั้งอยู่หน้าร้าน
เข้าไปในร้านกันค่ะ
ปิ่นโตยักษ์
ด้านนอกและในร้านก็มีมุมสวยๆ ให้ถ่ายรูป
ร้าน Coffee Tea Sapan Pai ที่ตั้งชื่อแบบนี้เพราะว่าที่นี่ ตั้งอยู่ติดกับสะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย
ปิ่นโตยักษ์อีกเถา
ที่นั่งเก๋ๆ ^_^
ด้านในร้าน ที่นี่มีจักรยานสีแดงแบบโบราณตกแต่งอยู่หลายคัน
ในร้านก็เอาของเก่าๆ มาตกแต่ง
เครื่องเติมน้ำมันแบบเก่า มีโปสการ์ดขายด้วยนะคะ เขียนแล้วก็หย่อนตู้ไปรษณีย์ด้านหน้าได้เลย
เราจะไปทานข้าวเช้าที่ร้านอาหารกันค่ะ ข้าวเช้ารวมอยู่ในค่าที่พักอยู่แล้ว
ทางเดินจากร้านอาหารไปยังที่พักด้านหลัง
ที่นั่งทานข้าว บริเวณที่เรามานั่งจะมองเห็นวิวของสะพานท่าปาย
ถ้าเป็นหน้าน้ำขึ้น บริเวณนี้น่าจะเป็นน้ำ แต่ตอนนี้เป็นดอกไม้
ดอกไม้สวยๆ
มองกลับไปด้านข้างของร้านกาแฟ
จริงๆ สามารถเอาหารไปทานด้านบนข้างร้านกาแฟได้ เพราะแดดเริ่มออกด้านล่างจะร้อน เรานั่งกันด้านล่าง มีแดดส่องนิดหน่อยกำลังอบอุ่นดี
อาหารเช้า ขนมปังเนยแยม บริการตัวเอง และ เครื่องดื่มร้อน ชา กาแฟ โอวัลติน พนักงานจะมาถามและทำมาเสิร์ฟให้
มีข้าวต้มให้ 1 ถ้วย รถชาติดี อากาศเย็นๆ กินข้าวต้มร้อนๆ ก็ดีเหมือนกัน
มีปิ่นโตมาให้ 1 เถา ในนั้นจะมีข้าวเหนียวดำ และ หมูเค็ม ปีกไก่เค็ม ชอบอร่อยดี
หลังจากทานข้าวเสร็จ ก็ได้เวลาไปเดินเล่นที่สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย มีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก
สะพานนี้ไม่ได้ใช้จริงแล้ว เดินบนสะพานได้สบายๆ จะมีสะพานที่ใช้จริง สร้างอยู่คู่กัน
เห็นเจ้าตัวนี้อยู่ข้างๆ สะพานเลยถ่ายมา
สะพานนี้คือสะพาน "นวรัฐ" ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่ได้ใช้การแล้ว ทางอำเภอปายทำเรื่องขอสะพานนี้และขนย้ายมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2518 และประกอบแล้วเสร็จเป็นสะพานท่าปายในปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เหตุที่ขอก็เนื่องมาจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางผ่านไปยังพม่า และสร้างสะพานที่ทำจากไม้ซุงขึ้นมาใช้ข้ามแม่น้ำ ต่อมาเมื่อแพ้สงครามก็เผาสะพานทิ้ง ด้วยความเคยชินของชาวบ้านที่อาศัยสะพานของญี่ปุ่นข้ามมานาน จึงสร้างสะพานไม้ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่นานน้ำก็ท่วม น้ำพัดสะพานไม้หายไป ทางอำเภอปายจึงทำเรื่องของสะพานเหล็ก นวรัฐที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาจากเชียงใหม่ด้วยเหตุนี้
แม่น้ำปาย
เราเดินข้ามาถึงอีกฝั่ง
ประวัติสะพานท่าปาย
มองย้อนกลับไป
วันนั้นที่ไป ได้เจอรถไม้ที่มาจอดโชว์ด้วย สวยดี ใครต้องการจะถ่ายรูปก็ได้ จะมีกล่องใส่ทิปให้หยอด เพื่อเป็นทุนสร้างสรรค์ผลงานคันต่อๆ ไป ซึ่งเขาจะขับไปโชว์ตามแหล่งท่องเที่ยวดังๆ ทั่วประเทศ
รถนี้สามารถขับขี่ได้จริง น่ารักดี ^_^
หลังจากกลับมาจากสะพานท่าปาย ก็เก็บของและให้รถของทางรีสอร์ทไปส่งที่ในเมือง เพื่อรอขึ้นรถกลับเชียงใหม่รอบ 12.30 น. ก่อนกลับแวะเปิบส้มตำกันที่ร้านส้มตำหน้าอำเภอ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ร้านส้มตำหน้าอำเภอ เพราะร้านอยู่หน้าอำเภอปาย ปีนี้ อ.ปายมีอายุครบ 100 ปี
รสชาติอาหารก็ธรรมดาๆ เหมือนร้านส้มตำทั่วๆ ไป คนเยอะอาจจะเป็นเพราะกระแส และ ไม่ค่อยมีร้านแบบนี้ให้เลือกทานมากนัก
ขึ้นรถมินิบัสเวลา 12.30 น. เราซื้อตั๋วขากลับไว้ล่วงหน้าแล้วกับ Thairoute พอไปถึงก็ยื่นเอกสารเพื่อออกตั๋ว ที่ด้านหน้ารถจะมีป้ายแปะไว้ด้วย ว่าใครนั่งตรงไหน ราคา 150 บาท จากปายเราไปถึงเชียงใหม่ประมาณ 4 โมงเย็น รถมินิบัสก็วิ่งช้าพอๆ กับบัสธรรมดา เพราะแรงส่งในการขึ้นเขามีน้อย ถ้าใครต้องการความรวดเร็วแนะนำให้ขึ้นรถตู้ดีกว่า จากปายมีรถตู้สองเจ้าคือของเปรมประชา กับ ของ AYA
เรามาแวะจิบน้ำชายามบ่าย(แก่ๆ) ที่เวียงจูมออน ที่เคยรีวิวไว้แล้ว เข้าไปอ่านรายละเอียดและดูบรรยากาศร้านได้ที่ พากิน จิบชายามบ่ายที่เวียงจูมออน ร้านชาสีชมพูหวาน ในเมืองเชียงใหม่
จากเวียงจูออน เอ้ย! เวียงจูมออน เราก็ข้ามสะพานคนเดินมายังฝั่งตรงข้าม ซึ่งจะเป็นตลาด หรือที่เรียกกันว่ากาด ข้ามถนนมาจะเป็นกาดต้นลำใย เดินมาอีกหน่อยก็จะเป็นกาดวโรรส กะว่าจะไปซื้อไส้อั่วที่ร้านดำรงค์ แต่มาเย็นไปหน่อย ร้านในกาดปิดเกือบหมดแล้ว
เราเลยมุ่งหน้ามาที่ประตูท่าแพ เพื่อมาเดินถนนคนเดินวันอาทิตย์ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อิอิ เพราะกว่าจะถึงเวลาขึ้นรถที่นครชัยแอร์ก็อีกหลายชั่วโมง ส่วนสัมภาระพวกกระเป๋าต่างๆ เราสามารถฝากไว้ที่ท่ารถได้ ไม่ต้องสะพานมาให้พะรุงพะรัง โดยพนักงานที่รับฝากกระเป๋าจะยึดตั๋วรถไว้ 1 ใบ
ถึงแล้วประตูท่าแพ
เดินเข้ามาหน่อย ก็เจอวัดพันอ้นก็เข้าไปไหว้พระ
เดินเล่นไปเรื่อยๆ ถึงวัดพันเตา
เข้าไปไหว้พระที่วัดพันเตา
ช่วงนั้น(กุมภาพันธ์ 2554)ทางวัดกำลังจัดงานดอกทิวลิป 3000 ดอกบานที่วัดพันเตา เชียงใหม่
เสียดายมาตอนกลางคืน เลยไม่ได้ถ่ายให้เห็นความสวยงามชัดๆ
แต่ตอนกลางคืนก็สวยไปอีกแบบ มีพระมาเทศน์ด้วย คนที่เดินผ่านไปมาบนถนนคนเดิน ก็แวะมาไหว้พระ
แวะไหว้พระที่วัดอินทขิล สะดือเมือง
แวะสักการะอนุเสาวรีย์สามกษัตริย์
จากนั้นก็แวะหาอะไรทานที่ถนนคนเดิน ก่อนขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ เลยแวะที่ร้านผัดไทยเจ๊จุกผัดไทยสูตรอยุธยา รสชาติโอเค
ขึ้นรถนครชัยแอร์ First Class รอบ 21.20 กลับ ถึงกรุงเทพฯ 6.50 น. เช้าวันจันทร์ อาบน้ำแต่งตัวไปทำงานต่อ เป็นทริปที่เหนื่อยแต่ถือว่าเที่ยวได้คุ้ม
สรุปค่าใช้จ่าย ในการเที่ยวปายครั้งนี้ต่อคน 5,300 บาท
- ค่ากิน 890 บาท (รวมอาหารทุกมื้อ และ ค่าขนม เครื่องดื่มและของกินจุบจิบ)
- ค่าที่พัก 1,240 บาท (2 คืน ที่วิลล่าเดอปาย และ บุระลำปาย)
- ค่าเดินทาง 2,139 บาท (ค่ารถทัวร์ไปกลับกรุงเทพฯ - เชียงใหม่, ค่ารถไปกลับเชียงใหม่-ปาย, ค่าเช่ารถมอร์เตอร์ไซค์เที่ยวรอบปาย 1 วัน, ค่าสามล้อที่เชียงใหม่, ค่าแท็กซี่ไปกลับนครชัยแอร์ )
- ค่าท่องเที่ยวและบัตรผ่าน 760 บาท (ค่าทัวร์ปางอุ๋ง ห้วยน้ำดัง ค่าธรรมเนียมเข้าห้วยน้ำดัง)
- อื่นๆ 280 บาท (เสื้อปาย 2 ตัว และ ของที่ระลึกอื่นๆ)
พาเที่ยว ปาย ห้วยน้ำดัง ปางอุ๋ง สเน่ห์ท่ามกลางขุนเขาตอนอื่นๆ
ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog ของ bombik แล้วแวะมาอีกนะคะ ^_^