เมื่อสองวันก่อน มีโอกาสเดินดูนิทรรศการ "ข้าว..จากเมล็ดสู่เมล็ด" ที่หน่วยงาน เป็นนิทรรศการที่ดีมากๆ แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนกว่าจะมาเป็นข้าวและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับข้าว การทำนาแบบโบราณ ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ไถ หว่าน จนเติบโตเป็นต้นข้าวระยะต่างๆ และการเก็บเกี่ยว การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ความรู้เกี่ยวกับข้าวชนิดต่างๆ การเลี้ยงไหม ฯลฯ นอกจากนี้ที่ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้นมากกว่านั้นคือการได้เห็นกระบือตัวเป็นๆ หรือที่เราเรียกว่าควายนั่นแหละ(ซึ่งเชื่อว่าเด็กบางคนคงไม่เคยเห็นตัวจริง) มีการให้ความรู้เกี่ยวกับควาย ซึ่งอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ โรงเรียนสอนควาย
"โรงเรียนสอนควาย" เห็นน่าสนใจดี เลยคัดลอกข้อมูลจากโปสเตอร์ความรู้มาให้อ่านกันค่ะ
เนื่องจากเกษตรกรหันมาใช้ควายเหล็กหรือรถไถนากันมากขึ้น ในขณะที่น้ำมันราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ต้องหันมาดูวิถีชีวิตคนไทยแบบเก่าที่พึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะการเลี้ยงควายไว้ไถนา ซึ่งปัจจุบันกำลังจะหมดไป หรือแม้จะเหลืออยู่ ทั้งคนทั้งควายก็ไถนาไม่เป็นกันแล้ว จึงเป็นที่มาของโรงเรียนสอนคนและควายสำหรับไถนา
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ (กา-สอน-กะ-สิ-วิด) เป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกกระบือ และให้เกษตรกรมาใช้ชีวิตเกี่ยวข้องกับกระบือเพื่องานเกษตรกรรม ตั้งอยู่ที่ ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนกาสรกสิวิทย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์มีกระบือทั้งหมด 26 ตัว เป็นกระบือทรงเลี้ยงที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย ในจำนวนนี้ มีกระบือผู้ให้ความรู้จำนวน 17 ตัว ส่วนกระบือเพื่อเรียนรู้นั้น จะเป็นกระบือจากธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ในปีแรกจะทำการฝึกจำนวนรุ่นละ 5 ตัว ปีละ 10 รุ่น
เกษตรกรผู้ที่จะรับกระบือจากโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จะต้องเป็นผู้มีความตั้งใจที่จะนำกระบือไปใช้ในการเกษตรของตนอย่างจริงจัง และจะต้องเข้าพักในโรงเรียน ฝึกกับครูฝึกสอนผู้ใช้กระบือของโรงเรียน นอกจากนี้เกษตรกรจะได้รับความรู้ด้านการเลี้ยงและดูแลกระบือ การปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานและการใช้ชีวิตแบบพอเีพียง
นอกจากได้ชมนิทรรศการความรู้ที่เป็นประโยชน์มากๆ เรื่องข้าวและการทำนาแล้ว ยังได้ร่วมทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือด้วย(สองตัวที่เห็นในภาพด้านบน) ซึ่งเป็นกระบือเพิ่งหย่านม หลังจากไถ่ชีวิตแล้ว เจ้าสองตัวนี้ก็จะไปเป็นกระบือของกรมปศุสัตว์ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
จริงๆ แล้วในนิทรรศการยังมีส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไว้จะมารีวิวให้ดูทีหลังนะคะ ^_^
ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog ของ bombik ค่ะ